ความเป็นมาและเกียรติประวัติของรถถังแพนเธ่อร์
โดย : ไพศาล หาญบุญตรง (webmaster@falconbbs.com)

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง การพัฒนาของรถถังรุ่นใหม่ที่จะมาทดแทน แพนเซ่อร์ 4 รถถังขนาดกลาง เป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะว่าเจ้าแพนเซ่อร์ 4 เองก็พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า เชื่อถือได้และเก่งรอบด้าน แม้จะสูญเสียมากในสงครามกับโปแลนด์และฝรั่งเศส พวก เยอรมันก็ดูจะพอใจกับแพนเซ่อร์ 2 3 และ 4 แม้จะมีเหตุบางประการก่อนสงครามกับรัสเซีย ซึ่งเตือนว่ารัสเซียกำลังเตรียมกองทัพหุ้มเกราะใหม่และหนัก ผู้นำทหารเยอรมันก็ไม่สนใจ คำเตือนนี้ เหตุดังกล่าวเหตุหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.1941 เมื่อฮิตเล่อร์ สั่งมาเป็นการพิเศษให้จัดแสดงพัฒนาการของการออกแบบรถถังล่าสุดของเยอรมัน แก่ คณะผู้แทนทางทหารของรัสเซียชม ปรากฎว่าเมื่อได้ชมแพนเซ่อร์ 4 แล้ว พวกรัสเซียไม่ ยอมเชื่อว่านี่เป็นรถถังเยอรมันรุ่นล่าสุดและหนักที่สุดแล้ว และพูดจารบเร้าเป็นอย่างมาก จนกองทัพเยอรมันเองสรุปว่า พวกรัสเซียคงจะมีรถถังที่ดีกว่าและหนักกว่านี้อยู่ในความ ครอบครองแล้วเป็นแน่แท้

เมื่อเยอรมันประกาศสงครามและเข้าโจมตีรัสเซีย จึงได้เจอกับรถถังหนัก เควี 1 และ รถถังขนาดกลาง ที 34/76 ซึ่งเป็นแบบใหม่ทั้งคู่ และในไม่ช้าก็พิสูจน์ตนเองว่าเป็น ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุด ต่อแผน "ปฏิบัติการบาร์บารอสซ่า" ของเยอรมัน เสียแต่ว่า มีจำนวนน้อยและกลยุทธเกราะป้องกันที่แย่ ทำให้ความมีประสิทธิผลในการสังหาร ของรถถังรัสเซียชั้นเยี่ยมสองแบบนี้ต้องลดน้อยถอยลงไป

นายพลกูเดเรี่ยนได้บัญชาการโดยเร่งด่วน ให้คณะนักวิจัยและพัฒนาของเยอรมัน เสนอรถถังแบบใหม่ที่ก้าวหน้า โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรักษาความเหนือกว่า ของเยอรมันเอาไว้ให้ได้ ซึ่งไปไกลถึงขนาดให้ลอกแบบ ที 34 โดยเร็วที่สุด สถานการณ์ขั้นวิกฤติครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดรถถังเยอรมันใหม่สองแบบ คือ ไทเก้อร์ 1 และ แพนเธ่อร์ ปลายปี ค.ศ.1941 กระทรวงการทหารเยอรมันทำสัญญากับบริษัท เดมเล่อร์-เบ็นซ์ (ดีบี) และ มาน (MAN) ให้ออกแบบรถถังขนาดกลาง น้ำหนัก 30-35 ตัน มีเกราะแนวเฉียง หนา 40-60 มม. มีปืนใหญ่ขนาด 75 มม. L/48 เป็นอาวุธหลัก (L/48 หมายถึงมีความยาวเป็น 48 เท่าของขนาดลำกล้อง คือยาว เท่ากับ 48x75 = 3600 มม.) และมีความเร็วสูงสุด 55 กม. ต่อชั่วโมง

แบบของดีบีนั้นพิสดารมาก แทบจะลอกแบบ ที 34 ออกมาเลย มีเครื่องดีเซล ติดตั้งด้านหลัง ล้อกดสายพานเป็นโลหะล้วน และระบบกันสะเทือนแบบสปริง ปีกนก เมื่อคิดย้อนกลับไป มันอาจจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ มากกว่าตัวที่ ออกแบบโดย มาน ก็เป็นได้

ตัวที่ออกแบบโดยมาน เป็นแบบเยอรมันแท้ๆ มีเพียงเกราะแนวเฉียงเท่านั้น ที่ลอกแบบมาจาก ที 34 ป้อมปืนถูกเลื่อนไปทางด้านหลังของตัวถังมากขึ้น เพื่อมิให้น้ำหนักของปืนใหญ่ ซึ่งเป็นรุ่นใหม่คือรุ่น L/70 (ยาว 70x75 = 5250 มม.) ซึ่งยาวขึ้นและหนักขึ้น กดไปข้างหน้ามากเกินไป พัฒนาการทางด้านวิศวกรรม มีความสลับซับซ้อนมาก มีระบบกันสะเทือนแบบคานรับแรงบิด (ทอร์ชั่นบาร์) เครื่องยนต์แกสโซลีนทางด้านหลัง และระบบเกียร์และเฟืองขับสายพานอยู่ด้านหน้า รถถัง วีเค 3002 (มาน) คันนี้ มีขนาดใหญ่กว่า ที 34 และตัวที่ออกแบบโดย ดีบี มาก และหนักกว่าน้ำหนักที่กำหนดไว้มากทีเดียว อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะความภูมิใจ แห่งชาติ แบบของมานจึงได้รับการยอมรับ แม้ฮิตเล่อร์จะชอบแบบของดีบีมากกว่า คำสั่งผลิตแบบของดีบีขั้นต้นจำนวน 200 คันถูกยกเลิก

วีเค 3002 (มาน) ต้นแบบคันแรกเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ค.ศ.1942 และการทดสอบก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนได้รับคำสั่งให้ทำการผลิต ทันที โดยมีลำดับความสำคัญสูงสุด ได้รับการขนานนามว่า PzKpfw V "Panther" Sd.Kfz.171 คันที่ผลิตจริงคันแรกเสร็จสมบูรณ์ในเดือน พฤศจิกายนปีเดียวกัน ส่วนดีบี และบริษัทอื่นอีกสองบริษัท คือ เอ็มเอ็ชเอ็น และเฮนซ์เชล ก็ปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อร่วมผลิตแพนเธ่อร์ในปี ค.ศ.1943

ความเร่งรีบในการพัฒนาและการผลิต ทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดข้องมากมาย ในหมู่แพนเธ่อร์ ระหว่างปฏิบัติการ "ซิทาเดล" สมรภูมิเมืองคูร์ซในเดือน กรกฎาคม ค.ศ.1943 แพนเธ่อร์รุ่น "D" (รุ่นแรก - แปลกมาก รุ่น A เป็นรุ่นหลัง) ที่ต้องยุติการสู้รบ อันเนื่องมาจากเครื่องยนต์เกิดไฟไหม้ และข้อขัดข้องทางกลไก อื่นๆ มีมากกว่าที่ถูกทำลายโดยรถถัง และปืนใหญ่ของรัสเซียเสียอีก รถถัง ชั้นเยี่ยมเหล่านี้ ถูกโยนเข้าสู่สงคราม ก่อนที่พวกมันเองจะอยู่ในสภาพพร้อมรบ อย่างเต็มที่ จึงเป็นที่น่าเสียดายมาก

การพัฒนาดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว และค่อยๆ แก้ปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ไปทีละจุด แต่ทั้งๆ ที่มันมีความสลับซับซ้อนและมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง เจ้าแพนเธ่อร์ก็เป็นรถถังที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และได้รับการ พิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสรรพาวุธ ให้เป็นรถถังขนาดกลางที่เยี่ยมที่สุด ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในครั้งนั้นความซับซ้อนและเครื่องยนต์แกสโซลีน ดูจะเป็นจุดด้อยของมัน แต่การผลิตก็ดำเนินต่อไปจนถึงปีค.ศ.1945 และ เจ้าแพนเธ่อร์ก็ได้สร้างชื่อเสียง และเกียรติประวัติของตัวมันเองจวบจนวาระสุดท้าย

ในกองทัพสหรัฐนั้น มีหลักการคำนวณแบบไม่เป็นทางการ ว่าต้องใช้ รถถังเชอร์แมนถึง 5 คัน จึงจะสยบเจ้าแพนเธ่อร์คันหนึ่งลงได้ เยอรมัน ผลิตแพนเธ่อร์ทั้งหมด 4814 คัน สหรัฐผลิตเชอร์แมน 52000 คัน

แพนเธ่อร์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะ หนึ่งในบรรดาการออกแบบรถถัง ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ มีจำนวนมากที่ถูกยึดไว้ได้และได้รับการทดสอบ และกองทัพฝรั่งเศสก็ใช้แพนเธ่อร์ (ที่ยึดมาได้) ในราชการจนถึงปีค.ศ. 1950 หรือใช้ไปอีก 5 ปีหลังสงคราม นี่คงจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี ว่าพาหนะแห่งวรยุทธ หรือยุทธยานยนต์อันยอดเยี่ยมคันนี้ มีขีดความสามารถมากเพียงใด


pt-bw01.jpg - แพนเธ่อร์รุ่น A กำลังวิ่งผ่านเมืองเล็กๆ ในแฟลนเดอร์ เบลเยี่ยม ในปลายปี ค.ศ.1944 ภาพแสดงให้เห็นขอยึดเกราะด้านข้างอย่างชัดเจน

pt-bw02.jpg - แพนเธ่อร์รุ่น A เหล่านี้กำลังอยู่บนโบกี้ที่เรียกว่า "แฟล็ทคาร์" เพื่อการ ขนส่ง แฟล็ทคาร์ที่ใช้บรรทุกแพนเธ่อร์มีความยาว 8.40 ม. กล่องที่เห็นคือกล่องกระสุน

pt-bw03.jpg - ความเสียหายจากการสู้รบของแพนเธ่อร์รุ่น D คันนี้ แสดงให้เห็นถึง ความทนทรหดของโครงสร้างของมัน กระสุน 4 นัดพุ่งเข้ากระทบแผงคอปืนใหญ่ และป้อมปืนด้านหน้าอย่างจัง แต่มีเพียงนัดเดียวเท่านั้น ที่เจาะทะลุเข้าไปได้

pt-color.jpg - ภาพรถถังแพนเธ่อร์ จากพิพิธภัณฑ์ที่เมือง Saumur ในฝรั่งเศส อันเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลก ที่มีทั้งแพนเธ่อร์ และคิงไทเก้อร์ ในสภาพที่ยัง วิ่งได้ทั้งคู่!)


คุณลักษณะเฉพาะของแพนเธ่อร์

ความยาว : 8.86 ม.
ความกว้าง : 3.30 ม.
ความสูง : 2.95 ม.
น้ำหนักพร้อมรบ : 44800 กก.
เครื่องยนต์ : เมย์บัค วี-12 โอเว่อร์เฮดวาล์ว 
ความจุกระบอกสูบ : 23.88 ลิตร
แรงม้า : 700 แรงม้า ที่ 3000 รอบต่อนาที
เกียร์ : เดินหน้า 7 ถอยหลัง 1
ปืนใหญ่ : 75 มม. L/70 หมุนได้ 360 องศา
 กระดกขึ้นลงได้ +20 และ -4 องศา
ปืนกลร่วมแกน : 7.92 มม. (MG 34)
ปืนต่อสู้อากาศยาน : 7.92 มม. (MG 34)
ท่อปล่อยควัน : ขนาด 9 ซม. จำนวน 6 ท่อ
ความจุกระสุน : ปืนใหญ่ 79 นัด ปืนกล 4050 นัด
ความหนาของเกราะ : -ด้านหน้า 80 มม.
 -ด้านข้าง 40 มม.
 -ป้อมปืนด้านหน้า 80 มม.
 -ป้อมผู้บังคับการ 100 มม.
ความเร็วสูงสุด : 45 กม. ต่อชั่วโมง
พิสัยทำการ : ทางดี 200 กม. (ทางวิบาก 100 กม.)
พลประจำรถ : 5 คน
ไต่ทางลาดสูงสุด : 30 องศา (66.6%)
ลุยน้ำลึก : 170 ซม.
ข้ามคูกว้าง : 245 ซม.
ปีนสิ่งกีดขวางแนวตั้ง : 54 ซม.

ท่านได้รู้จักเจ้าแพนเธ่อร์ของจริงกันโดยละเอียดพอสมควรแล้ว น่าสนใจมั้ยครับ? คราวนี้มารู้จัก แพนเธ่อร์ 1:8 ของผม ซึ่งกล่าวได้ว่านี่แหละคือ รถถังจำลอง บังคับวิทยุ คันใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา คุณลักษณะเฉพาะก็ไม่เบาเหมือนกัน เริ่มเลยละกันครับ


ชื่อผลิตภัณฑ์ : แพนเธ่อร์ 1:8 บังคับด้วยวิทยุ 4 ช่อง
ผลิตและทำสีใน : ประเทศรัสเซีย
ความยาว : 113 ซม. 
ความกว้าง : 42 ซม.
ความสูง : 37.5 ซม.
น้ำหนัก : 27 กก. ไม่รวมแบตเตอรี่
ชุดเกียร์ : ผลิตตามมาตรฐานอุตสาหกรรม
มอเตอร์ : มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูง 2 เครื่อง บังคับด้วยวิทยุ 2 ช่องอิสระจากกัน
ตัวถัง : ไฟเบอร์กลาส
ล้อกดสายพาน : ดูราลูมินั่ม เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ซม.
เฟืองขับ : บรอนซ์ (ทองแดงผสมดีบุก)
สายพาน : โลหะผสม ความกว้าง 8.25 ซม.
สลิงประจำรถ : 2 เส้น เป็นสลิงจริง หนาประมาณ 3 หุน (น่าจะใช้ลากรถยนต์ได้)
อื่นๆ : มีเซอร์โว 1 ตัว ไว้กระดกปืนขึ้นลง และมอเตอร์อีก 1 ตัวไว้หมุนป้อมปืน
บังคับด้วยวิทยุ 2 ช่องอิสระจากกัน และมีไฟหน้า 2 ดวง เปิดปิดตามการทำงาน
ของมอเตอร์หลัก 
แบตเตอรี่ : 7A12V น้ำหนักประมาณ 2.5 กก. ตามสเป็ควิ่งได้ 20 นาที วิ่งจริงนานกว่า
วิทยุบังคับ : ฟูตะบะ แบบ 4 ช่อง รุ่นแอทแทค โฟว์ดับบลิวดี
ความสามารถพิเศษ : ปีนสิ่งกีดขวาง (คอนกรีต) สูง 10 ซม. ปีนเนินลาดชัน 45 องศา
 ลุยได้ทุกสภาพไม่ว่าโคลน ทราย และหิมะ (สหายชาวรัสเซียผู้ผลิตเขาว่ายังงั้น เขา
ยังบอกว่าวิ่งวันละ 10 ชม. สัปดาห์ละ 7 วัน ได้เป็นปีๆ สบายมาก) หมุนกลับตัว
360 องศาโดยอยู่กับที่... ให้เสียงสายพานกระทบคอนกรีตที่สมจริง 100% ฯลฯ
ราคา : ไม่ขอเปิดเผย (กลัวตกกะใจ) เอาเป็นว่าใครสนใจอยากได้ ให้ติดต่อทางอีเมล
มาที่ webmaster@falconbbs.com ก็แล้วกัน 
ท้ายที่สุดนี้ผมหวังว่าท่านคงได้รับความรู้และความเพลิดเพลิน ไม่มากก็น้อยกับ เรื่องราวของแพนเธ่อร์ ทั้งของจริงและของเล่น และขอขอบคุณคุณประทักษ์ บก.บห. M-Club ที่เชิญชวนและให้โอกาสผมมาเป็นนักเขียนจำเป็นครั้งนี้ ผมเลยขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์ เผื่อบางท่านอาจจะยังไม่รู้ ว่าผมทำเว็บไซท์ ชื่อว่า falconbbs.com ซึ่งมีภาพโมเดลและไดโอราม่าแนวมิลิทารี่ ให้ชมกัน อย่างมากมายถึง 950 ภาพ เป็นโมเดลเว็บไซท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครับผม ;-) หรือจะไปที่ modelmaniac.50megs.com อันเป็นสาขาล่าสุดก็ได้ครับ
หนังสืออ้างอิง:
1. Panther in Action - Squadron/Signal Publications @ 1975
2. Panther Ausf. A (Sd.Kfz.171) - Verlinden Publications @ 1994

Model Maniac Page 12 - Part B