; Registration code (if you have it) ; Optional URL link when the applet is "clicked". ; Reglink opened in new frame? ; Name of new frame for reglink ; Statusbar message ; Image to load ; resolution (1-8) ; mode (1-6) ; rotation speed (1-8) ; zoom min value (0-80) ; zoom max value (0-80) ; zoom speed (1-20) ; distort modify x (0-8) ; distort modify y (0-8) ; auto wait 1 (0-10000) ; auto wait 2 (0-10000) ; Distort value (1 .. 255) ; Tile images ("YES" or "NO") ; Optional background image ; Red in background (0 .. 255) ; Green in background (0 .. 255) ; Blue in background (0 .. 255) ; Optional image over applet ; Over image X offset ; Over image Y offset ; Memory deallocation delay ; Task priority (1..10) ; Min. milliseconds/frame for sync Sorry, your browser doesn't support Java. ; Message for no java browsers.
ไทเก้อร์ - สุดยอดรถถังเยอรมัน

ในบรรดาสรรพาวุธหลากหลาย ที่มีใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีจำนวนหนึ่งที่เริ่มมีชื่อเสียง และมีจำนวนน้อยที่กลายเป็นคำพูดติดปากคนทั่วไป เรียกว่าคนที่ไม่สนใจอาวุธสงครามเลย ก็ยังรู้จัก สปิทไฟร์ ซีโร่ มัสแตง และอื่นๆ อีกสองสามชื่อ เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วโดยผู้คนจำนวนมาก ในโลกตะวันตกนั้นดูเหมือนจะมีรถถังเพียง 2 คันเท่านั้น ที่มีความดังถึงระดับนี้ คือรถถังเชอร์แมนของสหรัฐ และไทเก้อร์ของเยอรมัน

รถถังไทเก้อร์กลายเป็นตำนานไปแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากความพยายามโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมัน แต่ที่สำคัญกว่านั้น เพราะเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ที่มันเป็นรถถังที่ฝ่ายตรงข้ามหวาดหวั่นยำเกรงเป็นที่สุด ในบรรดารถถังเยอรมันทั้งหมด เป็นเวลากว่า 2 ปีที่ไม่มีรถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรคันใด ที่จะเทียบทันขีดความสามารถของมัน การที่มันรวมไว้ซึ่งเกราะป้องกัน, อำนาจการยิง และความคล่องตัว ทำให้ไทเก้อร์เป็น "ราชินีแห่งสงคราม" และแม้กระทั่งตอนที่สงครามสิ้นสุดลง ก็มีรถถังฝ่ายสัมพันธมิตรน้อยคันมาก ที่จะกล้าต่อกรกับไทเก้อร์แบบตัวต่อตัว

ในปี ค.ศ. 1937 บริษัทเฮนส์เชล ได้รับคำสั่งให้ออกแบบรถถังขนาด 30-33 ตัน เพื่อใช้แทนแพนเซ่อร์ 4 (ซึ่งก็เพิ่งเข้าประจำการ) หลังจากที่สร้างรถทดสอบขึ้นมาคันหนึ่ง ชื่อว่ารถต้นแบบ DW-I โครงการก็ถูกชะลอไว้ เพื่อให้เฮนส์เชลโยกย้ายทรัพยากรไปทำโครงการ VK 6501 - รถถังหนักขนาด 65 ตัน ซึ่งเป็นการพัฒนาขั้นก้าวหน้าของรถถังหนักสมัยก่อน สงคราม แต่หลังจากที่สร้างรถถังต้นแบบขึ้นมา โครงการนี้ก็ถูกยกเลิก และหันไปทำโครงการ DW I ต่อ

พอถึงปี ค.ศ. 1940 เฮนส์เชลได้ปรับปรุงการออกแบบ DW I และให้ชื่อใหม่ว่า DW 2 เจ้า DW 2 นี้หนัก 32 ตัน มีพลประจำรถ 5 คน มีปืนใหญ่ 75 มม. L/24 (ลำกล้องสั้น ความยาวเพียง 1800 มม.) และปืนกล MG-34 จำนวน 2 กระบอก การทดสอบ DW 2 ดำเนินต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 1941 เมื่อเฮนส์เชลได้รับคำสั่งให้ออกแบบรถถังใหม่ ที่ก้าวหน้ากว่านี้ รถถังนี้ได้รับนามเรียกขานว่า VK 3001 (H) บริษัทเดมเล่อร์ เบ๊นซ์ ปอร์ช และ มาน ต่างก็ได้รับสัญญาให้พัฒนารถถังต้นแบบในระดับเดียวกันออกมา

VK 3001 (H) ของเฮนส์เชล คือบรรพบุรุษโดยตรงของรถถังสายพันธุ์ไทเก้อร์ และได้รับการพัฒนามาโดยตรงจากพาหนะทดสอบ DW 2 ก่อนหน้านั้น โครงสร้างหลักของตัวถัง ก็ใช้วิธีการของเยอรมัน ในการใช้แผ่นเกราะแนวตั้ง ยึดติดกับแชสซีและลำตัวช่วงล่าง ระบบกันสะเทือนประกอบด้วยแกนล้อ 7 แกน ติดตั้งล้อกดสายพานแบบวางซ้อน และเหลื่อมกัน (interleave) ซึ่งรับแรงสะเทือนด้วยคานรับแรงบิด (torsion bars) มีล้อรับ สายพาน 3 ล้อในแต่ละข้าง

เดิมตั้งใจจะติดปืน 75 มม. L/48 อันเป็นปืนใหญ่ความเร็วสูง (ลำกล้องยาว 3600 มม.) แต่อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของรถถัง ที-34 ของโซเวียต ทำให้อาวุธนี้ล้าสมัยไปทันที กระสุนปืน 75 มม. ไม่สามารถเจาะเกราะของเจ้า ที -34 ได้ ดังนั้นจึงมีการตัดสินใจ ที่จะเปลี่ยนปืนของ VK 3001 (H) แชสซีของ VK 3001 (H) 2 ตัว ได้รับการดัดแปลง เป็นแท่นติดตั้งปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 128 มม. K L/61 ต่อสู้รถถัง และถูกส่งไปยังรัสเซีย ที่ซึ่งมันถูกใช้พิฆาตยานเกราะศัตรูอย่างได้ผล โดยที่มันคือบรรพบุรุษโดยตรงของไทเก้อร์ เจ้า VK 3001 (H) จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ที่โรงงานของเฮนส์เชล ในชื่อว่า ไคลเนอร์ ไทเก้อร์ (เสือน้อย)

พร้อมๆ กับการพัฒนาของ VK 3001 (H) ฮิตเล่อร์ร้องขอให้บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถถังของเยอรมัน ทำการออกแบบรถถังที่หนักยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถยึดครองสมรภูมิใดๆ ก็ได้ คุณลักษณะเฉพาะนี้ ต้องการรถถังที่สามารถบรรทุกอาวุธซึ่งสามารถทะลวงเกราะรถถังข้าศึก ที่อยู่ห่างออกไปถึง 1500 เมตร และมีเกราะป้องกันซึ่งสามารถหยุดยั้งอาวุธต่อสู้รถถังใดๆ ของข้าศึกที่ระยะเดียวกัน และมีความเร็วอย่างน้อย 40 กม. ต่อ ชั่วโมง อาวุธหลักของเจ้าพาหนะนี้ ตั้งใจว่าจะเป็น เกเรียต 725 ปืนใหญ่ลำกล้องเรียบ ยิงกระสุนทังสเตน VK 3601 (H) มีเกราะป้องกันชั้นเยี่ยม เกราะด้านหน้ามีความหนา 100 มม. เกราะด้านข้างและด้านหลังหนา 60 - 80 มม. ในเวลาที่มันถูกสั่งสร้างนั้น พาหนะนี้ยากมากที่จะถูกทำลายโดยอาวุธต่อสู้รถถังใดๆ ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีอยู่ในขณะนั้น แชสซีได้รับการพัฒนามาจาก VK 3001 (H) แต่ใช้แกนล้อ 8 แกน ใช้ล้อกดสายพานขนาดใหญ่ขึ้น และตัดล้อรับสายพานทิ้งไป

ระหว่างนั้น การพัฒนาของปืน เกเรียต 725 ถูกยกเลิกเพราะทังสเตนขาดแคลน เมื่อไม่มีแร่ทังสเตนในปริมาณที่มากพอ กระสุนปืนสำหรับป้อนหน่วยรบอาจจะขาดแคลน อาวุธในระดับเดียวกัน ที่พอจะเป็นทางเลือกได้ มีอยู่หนึ่งเดียว คือปืนใหญ่ 88 มม. KwK36 ซึ่งได้รับการพัฒนามาจากปืน Flak 18 ทวิประสงค์ต่อสู้อากาศยาน เฮนส์เชลตกลง ที่จะพัฒนารถถังใหม่ เพื่อรองรับการติดตั้งปืน KwK36 ภายใต้นามเรียกขานของบริษัทว่า VK 4501 (H)

VK 4501 (H) ถูกดัดแปลงโดยตรงมาจาก VK 3601 (H) และมีการออกแบบและรูปร่างที่คล้ายกันมาก ความเปลี่ยนแปลงหลักระหว่างทั้งสองก็คือ ตัวถังที่ถูกขยายออกไปเหนือสายพาน การขยายออกนี้จำเป็น เพื่อให้สามารถติดตั้งปืน Kwk36 ซึ่งต้องใช้เส้นผ่าศูนย์กลางป้อมปืน ขนาดใหญ่กว่าที่เคยเสนอไว้สำหรับปืน 75 มม. ของ VK 3601 (H) เกราะด้านข้างของโครงสร้างหลัก เพิ่มความหนาเป็น 80 มม. ป้อมปืนใหม่นั้น บริษัทไรน์เม็ททัลพัฒนาให้กับทั้ง VK 4501 (H) ของบริษัทเฮนส์เชล และ VK 4501 (P) ของบริษัทปอร์ช ไรน์เม็ททัลยังผลิตปืนไม้ของป้อมปืนอันเป็นทางเลือกของเฮนส์เชล ซึ่งสามารถติดตั้งปืน 75 มม. KwK L/70 อย่างไรก็ตาม มันถูกยกเลิก และในที่สุดปืน L/70 ก็ถูกใช้กับรถถังขนาดกลางชื่อ แพนเธ่อร์

ข้อกำหนดที่ยากลำบากข้อหนึ่งของคุณลักษณะเฉพาะของ VK 4501 ก็คือ พาหนะต้นแบบคันแรกจะต้องเสร็จทัน ให้อดอฟ ฮิตเล่อร์ ตรวจสอบในวันที่ 20 เมษายน 1942 อันเป็นวันเกิดของฮิตเล่อร์ โดยที่คำสั่งนั้นลงวันที่ 26 พฤษภาคม 1941 จึงมีเวลาเหลือไม่ถึง 1 ปี ในอันที่จะออกแบบและสร้างรถต้นแบบ ซึ่งสามารถได้รับการประเมินคุณค่าได้อย่างเต็มที่ สิ่งนี้ทำให้ทีมงานวิศวกรและคนงานผู้สร้าง อยู่ภายใต้แรงกดดันอันมหาศาล โดยการทำงาน ทั้งวันทั้งคืน ทีมงานของเฮนส์เชลสามารถผลิตต้นแบบ VK 4501 (H) เสร็จในวันที่ 17 เมษายน 1942 เพียง 40 นาทีก่อนที่มันจะต้องถูกบรรทุกขึ้นรถไฟ เพื่อขนส่งไปยัง กองบัญชาการของฮิตเล่อร์ที่ราสเท็นเบิร์ก ไม่มีแม้แต่เวลาที่จะทดลองขับด้วยซ้ำ เพราะจะต้องรีบนำไปสถานีรถไฟเพื่อเตรียมการขนส่ง

วันที่ 19 เมษายน 1942 รถต้นแบบ VK 4501 ทั้งของเฮนส์เชล และปอร์ช ก็มาถึงจุดยกลง ประมาณ 11 กม. จากเมืองราสเท็นเบิร์ก ทั้งคู่ถูกยกลงจากรถแฟล็ทคาร์โดยปั้นจั่น และในไม่ช้ารถถังของปอร์ชก็วิ่งไปติดหล่มดินนุ่ม ใต้ท้องติดแน่นกับดิน ขยับไม่ได้ เคิร์ท อาร์โนลด์ หัวหน้าวิศวกรของเฮนส์เชล เสนอ ดร.ปอร์ช ให้ใช้รถถังต้นแบบของเฮนส์เชล ลากรถต้นแบบของปอร์ชให้พ้นจากหล่ม ปอร์ชสะบัดหน้าปฏิเสธข้อเสนอนี้

ความจริงแล้ว รถถังทั้งสองคันยังไม่พร้อมอย่างแท้จริงที่จะวิ่ง รถถังของเฮนส์เชล ยังไม่เคยแม้แต่จะขับเคลื่อนด้วยกำลังของตนเองเลย! การขับเคลื่อนระยะทาง 11 กม. ไปยังกองบัญชาการของท่านฟูเรอร์ที่ราสเท็นเบิร์ก คงจะยาวนานราวชั่วนิรันดร์สำหรับทั้งสองบริษัท ไม่มีรถถังคันไหนวิ่งไปได้เกิน 200-300 เมตรโดยที่ไม่มีปัญหา และทั้งสองคันต้องยกเครื่องหลายครั้ง ไปตลอดเส้นทาง ณ จุดหนึ่ง เคิร์ท อาร์โนลด์ ถึงกับต้องใส่หมุดเข้าไปในกลไกขับเคลื่อนขั้นสุดท้ายที่มีปัญหา ของรถถังต้นแบบของเฮนส์เชล เพื่อให้มันสามารถวิ่งต่อไปได้

วันรุ่งขึ้น 20 เมษายน รถถังต้นแบบทั้งสองคัน ก็พร้อมที่จะให้ฮิตเล่อร์ตรวจสอบ เมื่อมีข่าวว่าฮิตเล่อร์จะมาถึงช้าหน่อย คือประมาณบ่ายสองโมง อาร์โนลด์จึงสั่งให้รื้อชุดล้อขับสายพานเพื่อซ่อมแซม แต่โชคไม่ดี ฮิตเล่อร์ปรากฏตัวพร้อมบรรดาผู้ติดสอยห้อยตามในเวลา 11.00 น. ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านในบริเวณของเฮนส์เชล เมื่ออาร์โนลด์สั่งให้คนงานรีบประกอบล้อขับสายพานกลับเข้าที่ รถถังทั้งสองคันจะต้องวิ่งด้วยความเร็วสูง เป็นระยะทางหลายร้อยเมตร เพื่อสาธิตขีดความสามารถด้านความเร็ว รถถังของปอร์ชวิ่งได้ไกลกว่า 1000 เมตรด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. อาร์โนลด์ขับรถถังของเฮนส์เชลเอง ซึ่งวิ่งไปได้ประมาณ 850 เมตรด้วยความเร็ว 45 กม./ชม. ในเที่ยวกลับนั้น ความร้อนของเครื่องยนต์พุ่งขึ้นสูงมาก จนอาร์โนลด์เกรงว่ารถถังอาจจะเกิดไฟไหม้ขึ้นได้ เขาจึงหยุดรถก่อนที่จะถึงกลุ่มคนที่มาดูการทดสอบ และสามารถหาเหตุผลเอาตัวรอดไปได้ โดยหวังว่ารถถังจะเย็นลงก่อนที่ใครจะต้องขับมันอีกครั้ง

ประสิทธิภาพด้านความเร็ว ที่ดูเหมือนจะเหนือกว่านิดหน่อยของรถถังต้นแบบของปอร์ช ทำให้สมาชิกบางคนของอุตสาหกรรมรถถัง มองข้ามรถถังต้นแบบของเฮนส์เชลไป อย่างไรก็ตาม อาร์โนลด์เข้าหาอัลเบิร์ท สเปียร์ เสนอแนะให้ทดสอบความสามารถในการบังคับขับเคลื่อน เขารู้มาว่ารถถังของปอร์ชนั้นบังคับเลี้ยวได้ยากมาก และรู้ว่าชุดเกียร์บ๊อกซ์ล้อขับสายพานแบบรีเจนเนอเรทีฟ ในรถถังเฮนส์เชลเองนั้น สามารถบังคับขับเคลื่อนได้ดีที่สุดในบรรดารถถังขนาดหนักทั้งหลายที่มีอยู่ในขณะนั้น ผลการทดสอบเป็นความสำเร็จสำหรับเฮนส์เชล ด้วยเหตุนี้ และด้วยปัญหาด้านการออกแบบอื่นๆ ของรถถังต้นแบบของปอร์ช เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้าและแชสซี รถถังต้นแบบของเฮนส์เชล จึงได้รับการคัดเลือกเพื่อการผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ส่วนแชสซีของปอร์ช ต่อมาได้ดัดแปลงไปใช้ เป็นปืนใหญ่ต่อสู้รถถังอัตตาจร ซึ่งรู้จักกันนามว่าเฟอร์ดินันด์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น อีเลแฟ้นท์)

รถถังเฮนส์เชล VK 4501 (P) ได้รับการสั่งผลิต ภายใต้นามเรียกขานว่า Pz Kpfw VI Tiger ausf E (Sd Kfz 181) อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วมันถูกเรียกว่า ไทเก้อร์ โดยเหล่าทหารหาญที่ใช้มัน และโดยฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต่อต้านมัน ต่อมาหลังจากนั้น เมื่อมีการผลิต ไทเก้อร์ 2 (คิงไทเก้อร์) แหล่งข่าวบางแหล่งจึงเริ่มอ้างถึงรถถังต้นแบบว่าคือ ไทเก้อร์ 1 ถึงแม้ว่ารถถังคันนี้จะไม่เคยใช้ชื่อนี้อย่างเป็นทางการเลยก็ตาม

การผลิตไทเก้อร์
เฮนส์เชล อุนด์ ซอห์น แห่งเมืองคาสเซล ประเทศเยอรมัน คือบริษัทที่มีชื่อเสียง ผู้ผลิตอุปกรณ์อุตสาหกรรมและรถไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวรถจักรและปั้นจั่นขนาดใหญ่ใช้ตามท่าเรือ ด้วยขนาดและน้ำหนักของไทเก้อร์ เฮนส์เชลจึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ผลิตที่เหมาะสมที่สุด มีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตรถถังขนาดหนักดังกล่าวอย่างครบครัน เฮนส์เชลยังมีทีมงานวิศวกรที่ยอดเยี่ยม นำโดย เคิร์ท อาร์โนลด์ และมีสถานที่ทดสอบยานพาหนะพร้อมสรรพ โรงงานของเฮนส์เชลซึ่งใช้ในการประกอบขั้นสุดท้าย มีขนาดใหญ่โตจนรถถังแต่ละคันดูเล็กมาก และสายการผลิตขั้นสุดท้าย มีความสามารถผลิตรถถังออกมาได้วันละหลายคัน

ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ติดตั้งบนรถถังไทเก้อร์ จะถูกรับเหมาช่วงไปทำ เฮนส์เชลก็ผลิตชิ้นส่วนหลักเกือบทั้งหมดในโรงงานของตนเอง ตัวถัง ป้อมปืน และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่จัดหามาจากภายนอก จะถูกนำเข้าไปยังอาคารประกอบ ที่ซึ่งปฏิบัติการปรับแต่งเครื่อง และการประกอบโดยละเอียดได้รับการดำเนินการ สิ่งอำนวยความสะดวกของเฮนส์เชล ทำให้บริษัทสามารถปรับแต่งขอบป้อมปืน และบริเวณสำคัญๆ ของตัวถังได้ภายใน โรงงานของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกเลย

พลประจำรถถังไทเก้อร์ ได้รับการคัดเลือกมาด้วยมือ ทั้งจากหน่วยปฏิบัติการรบ และจากผู้รับการฝึกระดับหัวกระทิของแพนเซ่อร์สคูเล่น (โรงเรียนสอนขับรถถัง) พลประจำรถเหล่านี้ถูกส่งไปยังเฮนส์เชล เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานโดยละเอียดของไทเก้อร์ และเพื่อเฝ้าดูรถถังของตนได้รับการประกอบขั้นสุดท้าย มันเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะว่าเจ้าไทเก้อร์ต้องการการดูแลรักษาเชิงป้องกันเป็นอย่างมาก และจำเป็นที่ต้องมี พลประจำรถที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี เพื่อรักษาสภาพรถถังไว้ให้พร้อมรบตลอดเวลา หนึ่งในบรรดาเครื่องช่วยฝึก ก็คือ ไทเก้อร์ฟิเบล หนังสือเล่มเล็กมีภาพประกอบแนวขบขัน ซึ่งแนะนำวิธีการ และกลเม็ดเด็ดพราย ในการดูแลให้เจ้าไทเก้อร์ทำงานได้อย่างถูกต้อง มันถูกแจกจ่ายไปทั่ว ในเหล่ากำลังพลประจำรถถังไทเก้อร์ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฝึกอบรม ที่ได้รับความนิยม

ระหว่างเดือนเมษายน 1944 การผลิตไทเก้อร์พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด เมื่อสายการผลิตสามารถผลิตออกมาได้ถึง 105 คันในเดือนเดียว ยอดการผลิตของไทเก้อร์ รุ่น E มีทั้งสิ้น 1354 คัน ทั้งหมดนี้ถูกส่งมอบระหว่าง กรกฎาคม 1942 จนถึงสิงหาคม 1944 การขาดแคลนวัสดุบางอย่าง สภาพการสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป และการปรากฏโฉมของไทเก้อร์ 2 รุ่น B ในเดือนมกราคม 1944 เป็นปัจจัยที่จำกัดการผลิตไทเก้อร์ ให้เป็นไปตามสัญญาเดิม ที่เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 1942 ถึงแม้ว่าไทเก้อร์จะบังคับควบคุมได้ดีมาก เมื่อเทียบกับขนาดและน้ำหนักของมัน แต่มันก็ไม่รวดเร็วและคล่องตัวเท่ารถถังขนาดเบากว่า อย่างเช่น เจ้าแพนเธ่อร์ นอกเหนือจากนี้มันยังผลิตได้ยากและมีราคาแพง และการใช้เกราะแนวตั้งด้านหน้า อันเป็นแบบของสมัยก่อนสงครามนั้น จำกัดปริมาณการป้องกันซึ่งเจ้าไทเก้อร์จะสามารถแบกไปได้ โดยยังมีน้ำหนักไม่เกินพิกัด ความจริงแล้ว การผลิตไทเก้อร์ทั้งหลายนี้เกินข้อจำกัดด้านน้ำหนัก 45 ตัน ของรถต้นแบบ ไปถึง 11 ตันทีเดียว

ขณะที่พวกเยอรมันยึดตามหมายกำหนดการเดิม ในการผลิตไทเก้อร์ของตน ก็น่าจะบันทึกไว้ด้วยว่า รถถัง ที 26 อี3 (M26) หรือ เปอร์ชิ่ง ของอเมริกัน ถูกผลิตออกมาในอัตรา 1350 คันในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ในท้ายที่สุดแล้ว ความแตกต่างในเรื่องปรัชญาการผลิต และการผลิตที่รวดเร็วกว่าของอเมริกัน ทำให้เกิดความแตกต่าง ระหว่างความพ่ายแพ้กับชัยชนะ

Tiger ausf E

การผลิตไทเก้อร์ รุ่น E แตกต่างน้อยมากจากต้นแบบ ยกเว้นแต่จะมีกล่องเก็บของขนาดใหญ่ 2 กล่อง ติดตั้งทางด้านหลังของป้อมปืน แต่ละกล่องมีฝาปิดของตนเอง การผลิตไทเก้อร์ รุ่น E เป็นไปตาม แนวทางในการสร้าง อันเป็นมาตรฐานของเยอรมัน ตัวถังและโครงสร้างหลักสร้างขึ้นด้วยการเชื่อม โดยใช้แผ่นเกราะแนวตั้ง เกราะของไทเก้อร์เป็นแผ่นเกราะที่เข้าร่องล็อคซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้รอยต่อมีความแข็งแกร่งขึ้น เกราะลำตัวและโครงสร้างด้านหน้า หนา 100 มม. ตัวถังด้านข้างหนา 60 มม. และโครงสร้างด้านข้าง และแผ่นเกราะด้านหลัง หนา 80 มม. แผ่นเกราะด้านบนหนา 25 มม. วางบนโครงสร้างป้อมปืนและเชื่อมติดเข้าด้วยกัน

ป้อมปืนถูกขึ้นรูปจากแผ่นเกราะหนา 82 มม. แผ่นเดียว ดัดโค้งเป็นรูปเกือกม้า พร้อมแผ่นเกราะขนาดเล็กด้านหน้า 2 แผ่น ซึ่งทำให้ป้อมปืนมีความหนาเพิ่มเป็น 100 มม. แผ่นเกราะหลังคาหนา 25 มม. วางลงบนและเชื่อมเข้ากับด้านข้างของป้อมปืน แผ่นเกราะหลังคาก็ถูกดัดเช่นกัน เพื่อให้ได้รูปตามแนวเส้นโค้งของด้านข้างป้อมปืน

ภายในของไทเก้อร์ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ ส่วนพลขับ ส่วนพลปืนกล/วิทยุ ส่วนยุทธการป้อมปืน และส่วนห้องเครื่อง สองส่วนด้านหน้านั้นความจริงเป็นพื้นที่เดียวกัน แต่ถูกคั่นกลางโดยระบบส่งกำลังขนาดใหญ่ และหน่วยขับเคลื่อนขั้นสุดท้าย พลขับนั่งทางด้านซ้าย และบังคับรถโดยใช้พวงมาลัยขนาดใหญ่ ซึ่งสั่งการระบบบังคับควบคุมพลังไฮดรอลิค และเพื่อเป็นการสำรอง จึงมีก้านควบคุมฉุกเฉินบังคับด้วยมือ 2 ก้าน เอาไว้ใช้ในกรณีที่ระบบไฮดรอลิคขัดข้อง ก้านทั้ง 2 นี้สั่งการดิสก์เบรคแบบบังคับด้วยมือ ซึ่งใช้เป็นเบรคตอนจอดรถด้วย ช่องมองของพลขับได้รับการ ป้องกันโดยแท่งโลหะขยับได้ ซึ่งเปิดปิดโดยการหมุนวงล้อ ที่อยู่บนแผงหน้าปัทม์

พลวิทยุนั่งทางตอนหน้าด้านขวา และทำหน้าที่เป็นพลปืนกลด้านหน้าด้วย ปืนกลด้านหน้าเป็นปืน MG 34 ขนาด 7.92 มม. ติดตั้งอยู่บนแท่นปืน Kugelblende ติดตั้งอยู่ในแผ่นเกราะด้านหน้า ชุดวิทยุติดตั้งอยู่บนหิ้งทางซ้ายมือของพลวิทยุ เหนือระบบส่งกำลัง

ตัวยึดรูปกางเขนโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งรองรับน้ำหนักของป้อมปืนส่วนหน้า ยังทำหน้าที่แบ่งส่วนยุทธการป้อมปืน ออกจากส่วนด้านหน้า ป้อมปืนอันใหญ่โตวางอยู่บนวงแหวนป้อมปืนขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.85 เมตร และพื้นของป้อมปืนถูกห้อยจากวงแหวนป้อมปืนโดยแท่งเหล็กรูปท่อ 3 แท่ง กลไลการป้อนกระสุนของปืนใหญ่ KwK36 ขนาด 88 มม. ยาวออกไปจนเกือบถึงป้อมปืนด้านหลัง และแบ่งพื้นที่ป้อมปืนเป็นสองส่วน พลปืนใหญ่นั่งทางด้านซ้ายของส่วนป้อนกระสุน และมีกล้องสองตา TZF9b ไว้ใช้ส่องเป้าหมาย มีการเจาะรูขนาดเล็กไว้ในแผงคอป้อมปืนใหญ่ เพื่อไว้ใช้มองจำนวน 2 รู ป้อมปืนหมุนด้วยพลังไฮดรอลิค และปรับแต่งความละเอียดโดยพวงมาลัยมือหมุน การกระดกปืนใหญ่ทำได้โดยการหมุนพวงมาลัยมือหมุนอีกอันหนึ่ง

การเล็งและการยิงปืนใหญ่ต้องใช้ความชำนาญและสมาธิสูง พลปืนใหญ่มีตัวชี้เป็นแผง หน้าปัทม์ แสดงตำแหน่งเข็มนาฬิกา (1 - 12) ของปืนใหญ่ เพื่อช่วยในการเล็งอย่างรวดเร็ว ของปืน และเพื่อเลือกเป้าใหม่ในระหว่างสู้รบติดพันสับสน พลบรรจุกระสุนนั่งทางด้านขวา ของปืน และรับผิดชอบการบรรจุกระสุนปืน KwK36 กระสุนปืนใหญ่ถูกเก็บไว้ในกล่อง ภายใต้ตะกร้าของป้อมปืน ในพื้นตัวถัง และทางด้านข้างของโครงสร้างหลักของตัวถัง

ผู้บังคับการรถนั่งทางซ้ายด้านหลังของป้อมปืน ภายใต้ฝาครอบป้อมปืนเล็กทรงกลม ซึ่งเรียกว่า cupola เจ้า cupola ของไทเก้อร์รุ่นแรกและรุ่นกลาง เป็นรูปร่างทรงกระบอก แบน ฝาครอบด้านบนหมุนเปิดออกไป และมีช่องมองปรุกระจกกันกระสุนโดยรอบรวม 5 ช่อง ตัวชี้การหมุนของป้อมปืนถูกติดตั้งไว้บน cupola ด้วย เพื่อให้ผู้บังคับการรถ รู้ทิศทางของปืนใหญ่ว่าหันไปทางใด cupola นี้ยังมีที่ติดตั้งเครื่องวัดระยะ และตัวยึด แบบแขนเหวี่ยง สำหรับติดตั้งกล้องส่องทางไกล เพื่อใช้ตรวจสอบวิถีกระสุนที่ยิงไป

อาวุธหลักของ PzKpfw VI Tiger ausf E ก็คือปืน KwK36 ขนาด 88 มม. L/56 (L/56 หมายถึงปืนมีความยาว 56 เท่าของขนาดลำกล้อง หรือยาวเท่ากับ 88x56 = 4.928 เมตร) เพื่อช่วยให้การกระดกป้อมปืนขึ้นลงได้รวดเร็วขึ้น จึงมีการใช้ สปริงถ่วงน้ำหนัก ซึ่งถูกติดตั้งในกระบอกท่อ ทางขวาด้านหน้าของผนังป้อมปืน ปืนถูกยิงด้วยระบบไฟฟ้า จากสวิทช์ที่อยู่นพวงมาลัยมือหมุน ซึ่งควบคุมการหมุนของป้อมปืน

กล่องเก็บกระสุนและรางวางกระสุน เก็บกระสุนปืนใหญ่แบบระเบิดแรงสูง (HE) และแบบเจาะเกราะ (AP) ได้รวมทั้งสิ้น 92 นัด นอกจากนี้ยังเก็บกระสุนปืนกล ขนาด 7.92 มม. อีก 4800 นัด ไว้ใช้กับปืนกล MG 34 ทั้ง 2 กระบอก ปืนกลกระบอกหนึ่ง ติดตั้งอยู่ในตัวถังด้านหน้า อีกกระบอกหนึ่งเป็นปืนกลร่วมแกน ติดตั้งอยู่ในแผงคอ ปืนใหญ่ และเพื่อป้องกันพลประจำรถในระยะประชิด ยังมีปืนกล MP 40 ขนาด 9 มม. อีก 1 กระบอกอยู่ภายในตัวรถ ปืนกลนี้สามารถยิงจากช่องยิงปืนกล ซึ่งมีช่องหนึ่ง ทางหลังด้านซ้ายของป้อมปืน และอีกช่องหนึ่งทางด้านขวา

ในการผลิตไทเก้อร์รุ่นแรกๆ ช่องยิงปืนกลด้านขวาดังกล่าว เคยเป็นช่องทางออก ของพลประจำรถ ซึ่งมีบานพับอยู่ทางด้านล่าง และเปิดโดยเปิดลงไปทางด้านล่าง ท่อปล่อยควันขนาด 90 มม. รุ่น NbK39 จำนวน 6 ท่อ ถูกติดตั้งทางด้านข้างของ ป้อมปืน ข้างละ 3 ท่อ

เพื่อป้องกันการโจมตีจากทหารราบ รถถังไทเก้อร์จำนวนหนึ่งจึงติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดแบบ S ไว้ภายนอกโดยรอบโครงสร้างหลัก หลายจุดด้วยกัน ลูกระเบิดแบบ S ประกอบด้วยระเบิดทรงกลม 1 ลูก ลึก 5 นิ้ว กว้าง 4 นิ้ว ซึ่งบรรจุลูกเหล็กกลมจำนวน 360 ลูก เวลาใช้งานนั้นเครื่องยิง จะยิงลูกระเบิดสูงขึ้นไปในอากาศประมาณ 4 - 5 ฟุต ที่ซึ่งมันจะระเบิดออก และกระจายลูกเหล็กออกไปทุกทิศทาง การติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดแบบ S ต่อมาถูกยกเลิกในการผลิตไทเก้อร์รุ่นหลังๆ โดยถูกแทนที่ด้วย Nahverteidigungswaffe (อาวุธป้องกันระยะประชิด) เจ้า Nahverteidigungswaffe คือเครื่องยิงลูกระเบิดต่อต้านบุคคล ซึ่งติดตั้งและบรรจุกระสุนจากภายในรถถัง ซึ่งอาจใช้ต่อต้านการคุกคามใดๆ ต่อรถถัง

น้ำหนักของไทเก้อร์ ทำให้มันจำเป็นต้องใช้ล้อกดสายพานจำนวนมาก วางเหลื่อมและซ้อนกันบนคานรับแรงบิด (torsion bars) เพื่อให้ได้น้ำหนักกดพื้นที่เหมาะสม แกนล้อทางด้านขวาตามหลังคานรับแรงบิด แกนล้อทางด้านซ้ายนำหน้าคานรับแรงบิด และเพื่อให้การกระจายน้ำหนักดีขึ้น แกนแต่ละแกนจะมีล้อกดสายพาน 3 ล้อ ทำให้ไทเก้อร์เป็นรถถังที่มีเสถียรภาพ และบังคับได้ง่าย ทั้งๆ ที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้

รถถังแต่ละคันจะมีสายพาน 2 ชุด ชุดสายพานกว้างใช้ออกศึก มีขนาดกว้าง 72.5 ซม. และสายพานแคบซึ่งใช้ในการขนส่งทางรถไฟ สายพานเพื่อการขนส่งมีความกว้าง 52 ซม. เมื่อติดตั้งสายพานแคบ จะมีการถอดล้อกดสายพานด้านนอก ออกจากแกน ล้อแต่ละแกน สิ่งนี้จำเป็นต้องทำ เพราะเส้นทางและสะพานรถไฟหลายแห่งในเยอรมัน มีขนาดเล็กและแคบ ในพื้นที่เปิดในชนบท หรือในที่ๆ เป็นไปได้ ก็จะเคลื่อนย้ายไทเก้อร์ ทางรถโดยติดตั้งสายพานกว้างไว้เลย เพื่อประหยัดเวลาในการเตรียมพร้อมเข้าสู่สงคราม

รถถังไทเก้อร์รุ่นแรกๆ ใช้เครื่องยนต์เมย์บัค HL 210 P45 ขนาด 21 ลิตร 650 แรงม้า เครื่องยนต์ V-12 แกสโซลีน ติดตั้งทางด้านท้ายของตัวถัง นับจากปลายปี 1943 ไทเก้อร์เปลี่ยนใช้เครื่องยนต์ที่แรงขึ้น คือเมย์บัค HL 230 P45 700 แรงม้า ซึ่งมี ความจุกระบอกสูบเพิ่มเป็น 23 ลิตร (23000 ซีซี) ถึงแม้ว่าไทเก้อร์จะมีชื่อเสีย(ง) ว่า เครื่องยนต์กำลังน้อย แต่เครื่องยนต์ก็พิสูจน์แล้วว่าเชื่อถือได้พอสมควร ถ้าไม่ใช้งาน หนักเกินตัว เช่นพยายามจะลากรถถังคันอื่นที่เสีย การขาดแคลนรถถังกู้ซ่อมขนาดหนัก มักจะทำให้พลประจำรถถังไทเก้อร์พยายามที่จะลากไทเก้อร์ด้วยกันที่มีปัญหา ซึ่งบางครั้ง ทำให้พังไปด้วยกันทั้งคู่

ชุดขับเคลื่อนขั้นสุดท้าย ติดตั้งอยู่ในตัวถังด้านหน้า ได้รับการพัฒนาโดยเฮนส์เชล และมีพื้นฐานมาจากชุดควบคุมแบบรีเจนเนอเรทีฟ ของเมอริท-บราวน์ ชาวอังกฤษ ยุคก่อนสงคราม ประกอบกับใช้ระบบเกียร์แบบพรีซีเลคทีฟอีกด้วย ระบบใหม่นี้ทำให้ ไทเก้อร์ขับง่าย และบังคับควบคุมได้ง่ายยิ่งกว่ารถถังหนักใดๆ ในสมัยนั้น ข้อเสียทางด้านการออกแบบ ก็คือความจริงที่ว่า จะต้องยกป้อมปืนออกเสียก่อน จึงจะสามารถซ่อมใหญ่ หรือเปลี่ยนระบบกำลังหรือชุดขับเคลื่อนขั้นสุดท้ายได้ อย่างไรก็ตาม การออกแบบระบบไฮดรอลิคของไทเก้อร์ ทำให้การยกป้อมปืนออกทำได้ง่าย

รถถังไทเก้อร์ 495 คันแรก ที่ออกจากสายการผลิต ได้รับการติดตั้งระบบท่อ snorkel และซีลกันน้ำ เพื่อช่วยให้รถถังสามารถลุยลำธารลึกได้ถึง 4 เมตร มันเป็นที่น่าสงสัยว่า สิ่งนี้เคยได้ใช้กันอย่างกว้างขวางบ้างหรือไม่ และไทเก้อร์รุ่นต่อๆ มา ก็ได้รับการติดตั้ง อุปกรณ์ลุยน้ำแทน ซึ่งสามารถลุยลำธารได้ลึก 1.3 เมตร ไทเก้อร์ที่ตั้งใจจะใช้ในพื้นที่ ปฏิบัติการเขตร้อน หรือมีฝุ่นมาก จะได้รับการติดตั้งระบบกรองอากาศ Feifel เครื่องกรองอากาศพิเศษนี้ ถูกติดตั้งด้านหลังของลำตัวไทเก้อร์ และเชื่อมต่อกับเครื่องยนต์ผ่านทางท่อโลหะ และท่อที่ยืดหยุ่นได้ ซึ่งติดตั้งบนด้านหลังของแท่นเครื่อง

เสาอากาศวิทยุ ติดตั้งด้านหลังทางขวาของแท่นเครื่องยนต์ และปกติจะติดตั้งเสาอากาศ แบบคันเบ็ด


ภาพต่อไปนี้แสดงความทรหดของไทเก้อร์ ซึ่งโดนยิงอย่างจัง ทั้งด้านหน้าและด้านข้าง แต่ไม่เข้า

ภาพต่อไปเป็นภาพลายเส้นของรถถังตระกูลไทเก้อร์ ทุกรุ่นทุกแบบ


คุณลักษณะเฉพาะ Tiger รุ่น E
ความยาว 8.458 เมตร
ความกว้าง 3.734 เมตร
ความสูง 2.870 เมตร
น้ำหนัก 56 ตัน
ปืนใหญ่ ขนาด 88 มม. KwK36
ปืนกล 7.92 มม. 2 กระบอก
เครื่องยนต์ เมย์บัค 700 แรงม้า HL230 P45 V-12 แกสโซลีน
ความเร็ว 37 กม./ชม.
พิสัย ทางดี 117 กม. ทางวิบาก 67 กม.
พลประจำรถ 5 คน

คุณลักษณะเฉพาะ Sturmtiger
ความยาว 6.312 เมตร
ความกว้าง 3.734 เมตร
ความสูง 3.454 เมตร
น้ำหนัก 70 ตัน
เครื่องยิงจรวด ขนาด 380 มม.
ปืนกล 7.92 มม. 1 กระบอก
เครื่องยนต์ เมย์บัค 700 แรงม้า HL230 P45 V-12 แกสโซลีน
ความเร็ว 40 กม./ชม.
พิสัย ทางดี 139 กม. ทางวิบาก 88 กม.
พลประจำรถ 5 คน

คุณลักษณะเฉพาะ Tiger II ausf B (King Tiger)
ความยาว 10.262 เมตร
ความกว้าง 3.746 เมตร
ความสูง 3.086 เมตร
น้ำหนัก 68 ตัน
ปืนใหญ่ 88 มม. KwK43 L/71
ปืนกล 7.92 มม. 3 กระบอก
เครื่องยนต์ เมย์บัค 600 แรงม้า HL230 P30 แกสโซลีน
ความเร็ว 41 กม./ชม.
พิสัย ทางดี 117 กม. ทางวิบาก 67 กม.
พลประจำรถ 5 คน

คุณลักษณะเฉพาะ Jagdtiger
ความยาว 10.655 เมตร
ความกว้าง 3.626 เมตร
ความสูง 2.820 เมตร
น้ำหนัก 70 ตัน
ปืนใหญ่ 128 มม. Pak44 L/55
ปืนกล 7.92 มม. 2 กระบอก
เครื่องยนต์ เมย์บัค 600 แรงม้า HL230 P30 แกสโซลีน
ความเร็ว 38 กม./ชม.
พิสัย ทางดี 160 กม. ทางวิบาก 120 กม.
พลประจำรถ 6 คน


หนังสืออ้างอิง : Tiger in Action @1989 Squadron/Signal Publications, Inc.
แปลและเรียบเรียงโดย : ไพศาล หาญบุญตรง เพื่อ FALCONBBS.COM ธันวาคม 2544
ไทเก้อร์ - สุดยอดรถถังเยอรมัน - ภาค 2
Back to Model Maniac Page 13 Part B